บทสรุปผู้บริหาร
สำหรับการวิจัยเรื่องการประเมินหลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ตามแนวคิดการประเมินหลักสูตรของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) โดยใช้ CIPP Model ซึ่งแบ่งการประเมินหลักสูตรเป็น 6 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ และ ด้านประสิทธิผล เป็นการวิจัยเชิงประเมิน (Evaluation Research) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินและไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจ ปรับปรุง แก้ไข หรือดำเนินการพัฒนาหลักสูตรต่อไป ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบวิเคราะห์เอกสาร โดยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1. หลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนผังปาล์ม 1 มีความเหมาะสมในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการด้านผลผลิต และด้านประสิทธิผล มีความเหมาะสมในระดับปานกลาง ส่วนด้านผลกระทบ มีความเหมาะสมในระดับปานกลาง
2. การประเมินด้านบริบท (Context) พบว่า ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ/ภารกิจ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร โครงสร้างของหลักสูตร สาระการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง มีความเหมาะสมในระดับมาก
3. การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า คุณสมบัติของผู้เรียน คุณสมบัติของครูผู้สอน คุณสมบัติของผู้บริหาร สื่อวัสดุ/อุปกรณ์ งบประมาณ อาคารสถานที่ และเวลาเรียน มีความเหมาะสมในระดับมาก แต่ควรปรับปรุงจำนวนเวลาเรียน และคุณสมบัติของผู้เรียน
4. การประเมินด้านกระบวนการ (Process) พบว่า การบริหารหลักสูตร การประกันคุณภาพการศึกษา มีความเหมาะสมในระดับมาก แต่ควรปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล
5. การประเมินด้านผลผลิต (Product) พบว่า ผลการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ คุณลักษณะอันพึงประสงค์และความพึงพอใจต่อผลงานด้านการใช้ภาษาอังกฤษ มีความเหมาะสมในระดับปานกลาง แต่ควรปรับปรุงความสามารถในการนำทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษ ทักษะกระบวนการสื่อสารภาษาอังกฤษ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน
6. การประเมินด้านผลกระทบ (Impact) พบว่า พฤติกรรมของผู้เรียนและความต้องการของชุมชน มีความเหมาะสมในระดับปานกลางแต่ควรปรับปรุงการนำทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษ ทักษะกระบวนการสื่อสารภาษาอังกฤษ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ในชุมชน และการพัฒนาชิ้นงานด้านการใช้ภาษาอังกฤษ
7. การประเมินด้านประสิทธิผล (Effectiveness) พบว่า ความคงทนต่อพฤติกรรมของผู้เรียนมีความเหมาะสมในระดับปานกลาง แต่ควรปรับปรุงพฤติกรรมนักเรียนให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของภาษาอังกฤษมากขึ้น
นางอรนุช เสียงดัง
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ